Wednesday, October 3, 2007

เทคนิคการเขียน resume สำหรับงานในตำแหน่งงาน IT ระดับสูง

เทคนิคการเขียน resume สำหรับงานในตำแหน่งงาน IT ระดับสูง

การเขียน resume สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน IT มาแล้ว เพื่อตำแหน่งในลักษณะของ consultant หรือระดับ Architect มีความแตกต่างจากวิธีการเขียน resume สำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่ๆ มากทีเดียว บทความแปลฉบับนี้จะช่วยอธิบายถึงเทคนิค 10 ประการที่ resume ของคุณจะเป็นที่น่าสนใจสำหรับเหล่า Head Hunter ทั้งหลาย

บทความนี้แปลมาจาก 10 things you should know about creating a resume for a high-level IT position ซึ่งผมเห็นว่าเหมาะกับลักษณะของงาน IT แบบ specialist มากกว่าที่จะเป็นคำแนะนำของตำแหน่งงานในสายบริหาร อย่าง IT manager, director หรือ CIO ซึ่งน่าจะมีเทคนิคอื่นที่แตกต่างกันออกไป

การเขียน resume สำหรับสมัครงานในตำแหน่ง IT specialist จะแตกต่างกับการเขียน resume สำหรับผู้เริ่มต้น ถึงแม้จะมีหลักการบางอย่างที่คล้ายกัน แต่คำแนะนำบางข้อก็แตกต่าง หรืออาจจะถึงขั้นขัดแย้งกับเทคนิคการเขียน resume สำหรับผู้เริ่มต้นเลยทีเดียว

1. ระบุเฉพาะทักษะหรือความสามารถที่สำคัญเพียงไม่กี่อย่าง
เมื่อคุณมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น ได้ทำงานกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่หลากหลาย คุณอยากจะประกาศให้โลกได้รู้ว่าคุณได้ทำอะไรมาบ้าง แต่การเขียนรายการยาวเหยียดเป็นหางว่าว จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าคุณรู้จักเทคโนโลยีแต่ละอย่างเพียงผิวเผิน ไม่ได้มีความ "เชี่ยวชาญ" อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ ให้ระบุเฉพาะเทคโนโลยีหรือทักษะสำคัญเพียง 2-3 อย่างเท่านั้น หรือจะไม่ต้องระบุเลยก็ได้

2. อย่าระบุผล certification
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็อย่าให้ความสำคัญกับ certification ต่างๆ มากเกินไปใน resume ของคุณ การใส่รายการ certification อาจจะจำเป็นสำหรับคนที่ไม่มีอะไรจะเขียนใน resume แต่ถ้าคุณเก๋าและโชกโชนในประสบการณ์จริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีที่ว่างเขียน certification

3. คำนวณมูลค่าของผลงานที่ทำมา
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณติดตั้งระบบ Active Directory ให้ระบุไปว่าทำไปกี่ไซต์ กี่โดเมน และกี่เซิร์ฟเวอร์ ถ้าคุณออกแบบระบบ e-commerce ให้ระบุว่าเปอร์เซ็นต์ของยอดขายที่เกิดขึ้น เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลของ e-commerce นั้นกี่เปอร์เซ็นต์ ระบุให้ชัดว่าคุณช่วยบริษัทเดิมได้อย่างไร

4. เขียนรายการต่างๆ โดยใช้ bullet points
หลีกเลี่ยงการเขียนยาวๆ เป็นย่อหน้าเพื่อที่จะอธิบายโปรเจ็คและงานต่างๆ ที่คุณเคยทำมา ลิสต์ผลงานชิ้นสำคัญๆ ในลักษณะของ bullet point และไม่ต้องกล่าวถึงงานเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยทำมา (เพราะถึงตอนนี้ resume ของคุณก็จะยาวเกินไปแล้วอยู่ดี)

5. ถ้าเป็นไปได้ ให้รวมตัวอย่างของงานที่เคยทำไว้ด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเคยมีบทความที่เขียนเกี่ยวกับงานที่ทำไว้บนเว็บ หรือเคยสร้าง e-commerce เว็บไซต์ไว้ ให้รวมลิงค์เหล่านั้นไว้ใน resume ด้วย จะช่วยให้ผู้จ้างสามารถเห็นงานของคุณได้ด้วยตัวเอง

6. เน้นย้ำถึงผลงานชิ้นสำคัญ
ถ้าคุณเป็น consultant คุณอาจจะผ่านงานโปรเจ็คขนาดเล็ก และทำให้กับลูกค้ามาหลายเจ้า อาจจะถูกจ้างเป็น "ตัวประกอบ" ในงานระยะสั้นหลายๆ ชิ้น แต่ก็ได้ทำโปรเจ็คใหญ่เมื่อปีที่แล้ว คุณไม่สามารถละเลยงานเหล่านั้นได้ มิฉะนั้นคนอ่านอาจจะสงสัยว่าคุณมัวไปทำอะไรอยู่ แต่อย่าให้งานเล็กๆ เหล่านั้นมาบดบังความสำคัญของงานชิ้นโบว์แดง คุณอาจจะใช้ฟอนต์ตัวใหญ่ขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจะตีกรอบรอบงานชิ้นสำคัญ ให้ดูเด่นขึ้นมา แต่อย่าทำเยอะเกินไปแค่กับงานใหญ่ๆ ชิ้นสำคัญจริงๆ เท่านั้น

7. ขอความคิดเห็นจากผู้จัดการจริงๆ
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหางาน อาทิเช่น head hunters ตัวแทนจัดหางานหรือแม้แต่ฝ่ายบุคคล ต่างก็มีความเห็นแตกต่างจากผู้จัดการแผนกที่กำลังจะรับพนักงาน ผู้จัดการแผนก ต้องการเห็นผลลัพธ์ของงาน และมักจะสามารถรู้วิธีที่จะแยกผู้สมัครที่ไม่ตรงความต้องการได้ ถ้าผู้จัดการคิดว่า เขากำลังอ่าน resume ที่สะท้อนถึงคนคนหนึ่งที่ไม่สามารถทำงานให้ลุล่วงได้ คุณไม่มีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์แน่ ให้ลองขอความเห็นเกี่ยวกับ resume ของคุณ จากคนที่ทำงานเป็นผู้จัดการหรือผู้ที่จะว่าจ้าง แล้วขอให้เขาวิจารณ์ให้หน่อย

8. รู้ว่าควรจะหยุดเมื่อใด
ถ้าคุณร่ายยาวถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดของคุณ ทุกที่ทุกโปรเจ็คที่ทำงาน resume ของคุณคงไม่ต่างอะไรกับหนังสืออัตชีวประวัติ ให้ลองหาจุดที่คุณจะหยุดเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของคุณ ถ้าคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องมีกล่าวถึงประสบการณ์เดิมๆ บ้าง ให้ลองแยกเขียนเป็นตอนต่างหากออกมา และแค่ระบุเป็น bullet point สั้นๆ ว่าทำงานที่ไหนในตำแหน่งอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายนัก

9. ใช้รูปแบบที่เรียบง่าย น่าสนใจ และสะดวกในการอ่าน
คุณควรใช้แบบตัวอักษรที่เรียบง่าย สะอาดตาในการอ่าน เช่น Times New Roman หรือ Arial เลือกใช้ลักษณะพิเศษอื่นๆ เช่น การทำตัวหนา ตัวเอียงหรือขีดเส้นใต้ให้สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการใช้กราฟฟิกซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านสับสนได้

10. ตรวจทาน แก้ไข และพิสูจน์อักษร
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า resume ฉบับหนึ่งๆ ควรจะผ่านการตรวจและแก้ไขอย่างน้อย 3 ถึง 7 ครั้ง กว่าที่จะสามารถสะท้อนให้แง่มุมประสบการณ์ที่หลากหลายของผู้เขียนบนแผ่นกระดาษได้ อย่าลืมให้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง ตรวจสอบตัวสะกด และขอให้ใครคนอื่นลองอ่าน resume ของคุณอย่างระมัดระวัง

No comments: